ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นคืออะไร
ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นหรือ Monbukagakusho (MEXT) ที่เด็กไทยเรียกกันว่า ‘ทุนมง’ เป็นทุนการศึกษาประเภทให้เปล่าไม่มีข้อผูกมัด ทุนที่นักเรียน/นักศึกษาไทยนิยมสมัครกันมากคือทุนนักศึกษาระดับปริญญาตรี และทุนนักศึกษาวิจัย ซึ่งการไปเรียนต่อปริญญาโทหรือปริญญาเอกก็ถือว่าเป็นทุนประเภทนี้เช่นกัน คือไปเรียนในฐานะนักศึกษาวิจัยแล้วก็ค่อยสอบเข้าทีหลัง หรือบางทีถ้าเป็นหลักสูตรอินเตอร์สามารถที่จะสมัครเข้าได้เลย ณ เวลาสอบได้ทุน
สำหรับระดับปริญญาตรีผมจะไม่ขอพูดถึง เพราะความสามารถพวกเขาเหล่านั้นคงจะมากกว่าตัวผมเยอะ และจะจำกัดอยู่ในส่วนของเด็กมัธยม แต่ทุนวิจัยจะเป็นส่วนของคนที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยหรือคนที่จบมาแล้วระยะหนึ่ง
จริงๆทุนนี้ก็จะมีทั้งแบบเสนอชื่อผ่านมหาวิทยาลัยกับแบบผ่านสถานทูตนะครับ แต่ของผมก็คือ รู้กันไว้ก่อนว่าเป็นแบบเสนชื่อผ่านสถานทูต ซึ่งต้องสอบแข่งขันกันครับ
คุณสมบัติในการสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่น
ก่อนอื่นทุกคนต้องมาทำความรู้จักกับเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนสำหรับทุนนักศึกษาวิจัยนั้นคือ
• ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย (ลูกครึ่งที่มีสัญชาติญี่ปุ่นต้องสละสัญชาติถ้าจะรับทุน)
• อายุไม่เกิน 35 ปี
• สำเร็จหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในปีที่เริ่มรับทุนการศึกษา
• เกรดเฉลี่ยกรณี ป.ตรี ไม่ต่ำกว่า 3.25 หรือ 3.15 หากผ่านวัดระดับภาษาญี่ปุ่น N4/N3 หรือ 3.00 กรณีผ่าน N2 หรือ 2.85 กรณีผ่าน N1 ( ป.โท ต้อง 3.5 ครับ ส่วนเภสัชก็แยกไปอีกครับ)
• ระยะเวลารับทุนการศึกษา 2 ปี หรือ 1 ปี 6 เดือน (รวมเรียนภาษาญี่ปุ่น 6 เดือน ถ้าเลือกไปญี่ปุ่น เดือน 10 ก็จะได้ทุนวิจัยเบื้องต้นแค่ 1 ปีครึ่ง)
• กรณีที่ผู้รับทุนได้เข้าศึกษาในญี่ปุ่นในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก หรือผู้เชี่ยวชาญในระดับบัณฑิตวิทยาลัยนั้น ทุนการศึกษาจะมอบให้ผู้รับทุนเฉพาะช่วงที่ศึกษาตามหลักสูตรปกติจนจบเท่านั้น
รายละเอียดสิ่งที่จะได้รับจากทุน
โดยสิ่งที่เราจะได้รับจากทุนวิจัยนี้ก็คือ
• ได้รับการยกเว้นค่าเทอมทั้งหมด
• มีเงินเดือนให้ เดือนละ 143,000 (เพิ่มอีก 2,000 สำหรับบางพื้นที่)
• ตั๋วเครื่องบินไปกลับ
เพิ่มเติมรายละเอียดที่
http://www.th.emb-japan.go.jp/th/jis/study.htm
ข้อมูลสรุปทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแต่ละประเภทและการคัดเลือก
ถ้าจะเรียนยาวก็สูงสุดได้ 7 ปี (เป็นนักศึกษาวิจัยหรือก็เตรียมตัวสอบได้สูงสุด 2 ปี โทได้สูงสุด 2 ปี เอกได้สูงสุด 3 ปี) เรียกว่าเหมือนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เลยก็ว่าได้ กินฟรีอยู่ฟรี มีหน้าที่แค่ตั้งใจเรียนและเที่ยว
ประสบการณ์การสอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่น
แต่แรกเริ่มเดิมทีผมก็เขียนบทความเรื่องเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องยืนยันให้กับคนที่ศึกษาภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองอยู่ว่ามันก็ไปได้ถึงระดับนึงแม้คุณจะไม่เคยไปญี่ปุ่นก็ตาม
ตัวผมเองตอนแรกสุดเลยที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นก็คิดเพียงแค่ว่า อยากจะเข้าใจอนิเมะให้มากขึ้น อยากจะอ่านนิยายไลท์โนเวลโดยไม่ต้องรอสำนักพิมพ์เอาเข้ามาแปลให้อ่าน ด้วย ณ เวลานั้นเป็นช่วงกระแสไลท์โนเวลเพิ่งเข้ามาบ้านเราใหม่ๆ มีนิยายแนวอนิเมะมากมายที่ไม่ได้นำเข้ามาแปล (ซึ่งมันเป็นเรื่องของเมื่อประมาณ 4-6 ปี ก่อนก็ว่าได้ ตอนนี้คงมีให้อ่านกันไม่หวั่นไม่ไหวโดยไม่ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นแล้วรึเปล่านะ) ไอ้ตัวเราก็ดูหน้าปก เห็นตัวละครน่ารักเยอะๆ อยากจะอ่าน แต่ก็อ่านไม่รู้เรื่อง
จะทำยังไงได้มันก็ต้องเรียนแล้วก็เรียน จุดเริ่มต้นมันง่ายแค่นั้นเอง
เวลาผ่านไป ทีนี้พอเราเรียนกันถึงระดับสูง ก็จะวนกลับมาที่ประเด็นหลักเลยว่าเราจะใช้ประโยชน์กับมันอย่างไร เพราะเราไม่ใช่เด็กแล้ว คือแบบได้ N1 ช่วงเรียนจบพอดี ภาพหลักก็จะเป็นใช้ “เรียนต่อ” หรือ “ทำงาน”
หลังได้ N1 ระยะหนึ่ง ผมก็ได้ไปแลกเปลี่ยนด้วยทุนตัวเองมา 1 ปี (โชคดีได้ Jasso มาทีหลังด้วย) ตอนแรกก็คิดว่าจะเรียนต่อเลย แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจกลับมาทำงานในประเทศไทย โดยหางานที่ดูจะโอเคที่สุด
แน่นอนว่าตัวผมเองทำงานด้วยภาษาญี่ปุ่นที่เรียนมา (เอง) เป็นงานที่ไม่ได้มีอะไรหวือหวา ไม่ค่อยเฉพาะทาง จนรู้สึกว่ามันอิ่มตัว และทุกอย่างมันควรจะเปลี่ยนแปลง
ชีวิตมีครั้งเดียว ถ้าจะต้องเหนื่อยแค่เสี้ยวนึงของชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงไปในจุดที่ดีกว่า ทำไมจะไม่ทำ ก็เลยนั่งไตร่ตรองกับตัวเองจนได้คำตอบว่าจะเรียนต่อเพื่อเปลี่ยนสายงาน เข้าสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญเต็มตัว
แล้วทีนี้ถึงจะอยากเรียนปริญญาโท แต่ผมก็ไม่อยากทิ้งภาษาญี่ปุ่น ถ้าเรียนต่อสายที่เรียนมาในไทยก็จะไม่มีอะไรเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นเลย ทางบ้านก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรขนาดแบบอยากจะไปเรียนต่างประเทศโดยไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้
ทุกอย่างมันก็เลยวนมาที่ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ในส่วนทุนวิจัย เป็นทุนให้เปล่าที่การแข่งขันน้อย มีเกียรติ เพื่อไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น
ปัญหาคือสำหรับผมซึ่งเป็นสายศิลป์ มันแข่งขันกันที่วิชาเดียว ก็คือวิชาภาษาอังกฤษครับ ซึ่งเป็นวิชาที่ตัวผมไม่ถนัดมากที่สุด และไม่ค่อยชอบ ส่วนภาษาญี่ปุ่นเลือกสอบได้ จะได้ไม่ต้องสอบตอนหลัง แต่คะแนนไม่ได้เอาไปคำนวณด้วย
แต่ในเมื่อไม่มีอะไรจะเสียก็เลยต้องลองดู
ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทนักศึกษาวิจัยเปิดรับสมัครทุกเดือน 6 ของทุกปีสำหรับรอบการศึกษาในปีถัดไป สอบเดือน 6-7 คนแข่งขันเฉลี่ยประมาณปีละ 400 คน ทุนมอบให้เฉลี่ยปีละ 30-36 คน คาดว่าสายศิลป์กับวิทย์อย่างละครึ่ง ซึ่งเรียกว่าแข่งขันน้อยมากก็ว่าได้ เมื่อเทียบกับหลายๆทุน ทั้งในและนอกประเทศ
แน่นอนว่าภาษาญี่ปุ่นไม่ต้องรู้ก็สอบได้ครับ แต่ผมรู้สึกว่าถ้ามีภาษาญี่ปุ่นอาจจะได้เปรียบตอนสัมภาษณ์ ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดีคนที่ได้ทุนส่วนมากคือคนที่ไม่ได้ภาษาญี่ปุ่น ส่วนเรื่องรายละเอียดอื่นเกี่ยวกับการสมัครต้องรบกวนไปเปิดดูเพิ่มเองกันนะครับ
เตรียมแผนวิจัย
ตัวผมเองก็เริ่มจะมาเตรียมตัวในส่วนของเนื้อหาวิจัย ซึ่งมีเนื้อหาแค่ประมาณ 1-2 หน้า ในช่วงเดือน 4 ก็นั่งร่างแนวทางการวิจัยของตัวเอง โดยหาเอกสารประกอบมาอ่านเยอะๆตั้งแต่ช่วงเดือน 1 พอเดือน 4 ก็เขียนๆ แล้วก็ให้คนรู้จักที่เป็นคนญี่ปุ่นช่วยขัดแกรมม่าให้ เนื่องจากผมเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นครับ
แม้จะมี แผนวิจัยแค่ 1-2 หน้าเพราะเป็นสายศิลป์แต่ก็ต้องอัดแน่นนะครับ คือคุณต้องรู้เนื้อหาของมันดีพอเพื่อที่จะทำวิจัย สู่แนวโน้มเพื่อได้มาซึ่งผลลัพธ์และประโยชน์ต่อสังคม สำหรับผมร่างแผนวิจัย มีหัวข้อตามด้านล่างครับ
• 研究背景 Background
• 研究目的 Purpose
• 研究意義 Meaning
• 研究方法 Method
• 参考文献 Reference
หนังสืออ่านไปสอบ
ส่วนการแข่งขันสอบเพื่อจะเข้าไปสัมภาษณ์ก็จะมีแค่ภาษาอังกฤษวิชาเดียว ก็เตรียมตั้งแต่เดือน 3 กว่าๆ โดยหนังสือที่เตรียมเพื่อสอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่นจะมีเล่มเดียวคือ Advanced Grammar in Use
อ่านแบบเน้นแกรมม่าที่เป็นจุดบกพร่องของตัวเองอยู่ประมาณ 10-20 รอบได้ ก็ยังคิดว่าไม่พอ เพราะทำ ข้อสอบเก่าทุนรัฐบาลญี่ปุ่น แล้วมันไม่เพอร์เฟค เนื่องด้วยการแข่งขันมันไม่ได้วัดว่าถ้าได้เยอะเท่าไหร่แล้วจะผ่าน ถ้าทุกคนได้เยอะเราก็ต้องได้เยอะกว่าถึงจะผ่าน
อย่างไรก็ดี !! สิ่งที่ผมคิดว่าตัวเองทำมากกว่าผู้สอบคนอื่นเพื่อเตรียมสอบภาษาอังกฤษของทุนรัฐบาลญี่ปุ่นคือผมไปขุดข้อสอบเก่า center ภาษาอังกฤษเพื่อเข้ามหาลัยของญี่ปุ่น และข้อสอบเก่าภาษาอังกฤษเพื่อสอบเข้าคณะแพทย์ในญี่ปุ่นไม่รู้กี่ร้อยฉบับมานั่งทำทุกวัน โดยหวังว่ามันจะเป็นแนวเดียวๆกัน (จริงๆคือข้อสอบคณะแพทย์เกือบทั้งหมดยากกว่าพอสมควร) ขึ้นรถไฟฟ้าก็เพ่งมือถือจอ 4 นิ้วเก่าๆ ไม่มีเฉลยก็นั่งคิดเอง อันนี้ใครอยากจะได้ก็ลองไปหากันดูนะครับ มีเยอะแยะ แต่ถ้าไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นก็อาจจะหาลำบากหน่อย
ก็ทำจนเบื่อจนเอียน แต่ก็เปิดคลิปของชินไคมาโคโตะ Z-Kai เพื่อเพิ่มพลังในการอ่าน
พระนางเขาบอกว่า
“ไม่ได้อยากจะเป็นอะไรที่พิเศษ ไม่ได้อยากได้คำสัญญาที่มั่นคง แต่แค่อยากจะไปในที่ที่ไกลแสนไกล”
ผมก็อยากไปเหมือนกัน
งั้นก็อ่านหนังสือต่อก็ได้
พอมาทำข้อสอบเก่า จริงๆก็ไม่ได้ยากมาก แต่มันต้องทำได้อย่างน้อย 70-80% เป็นพื้นฐาน
ตอนเข้าไปสอบจริงนี้ก็แบบนั่งนับข้อที่ไม่แน่ใจเลยมีประมาณ 10 ข้อจาก 50 ข้อ ก็พอดีเลยโชคดีผ่านมาได้แบบเฉียดๆ ไอ้ที่ไม่แน่ใจคือ error identification เกือบหมด ซึ่งก็ไม่รู้จริงๆว่ามันถูกหรือผิด
สำหรับปีของผมผู้สอบรวมๆ 400 กว่าคน มีผ่านเข้าสัมภาษณ์ 80 คน เราก็ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเก่งหรือเตรียมมาดีขนาดไหน แต่ก่อนอื่นคือเราต้องเตรียมตัวให้ดีที่สุดก่อน
วันที่รู้ตัวว่าสอบผ่านสำหรับผมคือ รู้ผลวันศุกร์เย็นแล้วสัมภาษณ์ พฤหัสถัดไป สำหรับสายวิทย์เหมือนมีเวลาเยอะกว่าคือถัดไปอีกอาทิตย์ ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นการจัดสรรเวลาที่ถูกต้องเนื่องจากสายวิทย์คงจะต้องมีเวลาเตรียมตัวนำเสนอการวิจัยมากกว่าอยู่พอสมควร
สอบสัมภาษณ์
การแข่งขันกับตัวเองก็เริ่มขึ้น ผมก็หาข้อมูลมาก่อนหน้าแล้วว่า จะมีการให้พูดแนะนำตัวเอง 3 นาทีตอนเข้าไป แนะนำตัวเอง เรียนอะไร เรียนทำไม แล้วจะกลับมาทำอะไร ผมก็สรุปแผนวิจัยของตัวเองอีกที แล้วก็นั่งท่อง เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่คาดว่าจะมีขึ้นเกี่ยวกับการวิจัย
และแล้ววันสัมภาษณ์ก็มาถึง ไวเหมือนโกหก แค่ได้มาสัมภาษณ์ ก็รู้สึกว่าตัวเองก้าวผ่านความกลัวไปแล้วหนึ่งก้าว หลังจากนี้จะมีอะไรไม่รู้ แต่คิดแค่ว่าจะทำให้ดีที่สุดที่ทำได้ ไม่ให้เสียใจภายหลังแม้จะไม่ได้ก็ตาม ไม่อยากทำให้คนที่ช่วยๆเรามาผิดหวัง อย่างน้อยก็คนที่เขาอุตส่าห์ตรวจแกรมม่าให้
การสัมภาษณ์ทุนจะเป็นการสัมภาษณ์เรียงตามสายที่จบมา คู่แข่งก็จะมาติดๆกันครับ ก็นั่งเงียบๆพอ ของผมเหมือนค่อนข้างจะซีเรียส เพราะในสายเดียวกันคนอื่นดูจะโปรไฟล์ดีและเก่งกว่าผมทั้งนั้น แต่ตอนนั่งรอนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะนั่งซ้อมการพูดในสมองตลอด พอก่อนจะถึงตาเราเขาจะให้เข้าไปนั่งรอในห้องรับรองก่อน แล้วก็จะมีกระดาษแปะไว้บอกให้ให้แนะนำตัวเอง 3 นาทีตอนเข้าสัมภาษณ์ ตอนนั้นก็ใจไม่ลอยไปไหน นั่งพูดเพื่อไม่ให้ภาษาญี่ปุ่นของตัวเองลิ้นพันกัน พอถึงเวลาเขาเรียกผมเข้าไป
บรรยากาศคือมีโต๊ะยาวๆ เอกสารผู้สมัครเต็มไปหมด แล้วก็มีท่านทูต 3 ท่าน อาวุโสสุดหนึ่งท่านนั่งตรงข้ามเรา แล้วก็มีอีกสองท่านซึ่งอายุ 30-40 ได้ 2 ท่านนั่งคนละฝั่ง เข้าไปแล้วเขาก็จะเริ่มให้แนะนำตัว ผมก็แนะนำตัวตามที่เตรียมมา ทูตทั้งสามท่านก็จะเริ่มยิงคำถามมา เข้าใจว่าทางผู้สัมภาษณ์เองก็จะมาดูข้อมูลเบื้องต้นเราแบบละเอียด ณ วันสัมภาษณ์เหมือนกัน ก็จะถามเชิงยืนยันข้อมูลเบื้องต้น หลังจากนั้นก็จะเข้าในส่วนของคำถามเกี่ยวกับการวิจัย ว่าทำไปแล้วจะมีประโยชน์จริงหรือ หาข้อเสีย แล้วก็จะถามความคิดเห็นของเราต่องานวิจัยตัวเองในกรณีมีการเปรียบเทียบ ซึ่งถ้าเคลียร์ได้หมด จะเริ่มเข้าสู่โหมดคำถามทั่วไป เกี่ยวกับที่ที่เราจะไป แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับตัวเรา ซึ่งทางท่านทูตก็จะมีการจดรายละเอียดอยู่ตลอด
ตัวผมก็บอกไปหมดว่าตัวเองเริ่มศึกษาภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองอย่างจริงจังด้วยความชอบอนิเมะ แล้วผมก็อยากขอบคุณอนิเมะและภาษาญี่ปุ่นมากที่ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร เพียงแค่กล้าและอดทนที่จะทำอะไรสักอย่าง เป้าหมายของเราก็จะมีถึงอย่างแน่นอน ผู้สัมภาษณ์ท่านนึงที่นั่งข้างๆก็มีการชวนถามว่าผมชอบอนิเมะแบบไหน ผมก็ตอบไปตามบริบท แล้วทุกคนก็ยิ้มก็หัวเราะกัน คือบรรยากาศไม่ได้กดดัน และผมรู้สึกว่าตัวเองได้พูดทุกอย่างที่อยากพูดออกไป ณ จุดนั้น เดินออกมาจากห้องก็รู้สึกดี กลับห้องนอนสลบหมดแรง วันต่อมาก็กลับเป็นมนุษย์เงินเดือนเช่นเคย
และท้ายที่สุด วันประกาศผลรู้ว่าตัวเองผ่าน ก็คงไม่รู้จะขอบคุณอะไร แต่อนิเมะ ที่แม้วันนี้ผมจะไม่ได้หลงรักมันเหมือนเมื่อก่อนแล้วก็ตาม มันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเชื่อในตัวเองมากขึ้น จนมานั่งสอบแล้วก็ผ่านได้แบบนี้ จริงๆแล้วผมเองก็มีความกลัวว่าจะผิดหวังตั้งแต่ก่อนจะสอบแล้ว แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยมันก็จะไม่มีอะไรทั้งนั้น
การได้ทุนครั้งนี้เป็นส่วนนึงที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ภาษาที่ผมพยายามเรียนมาไม่ได้เสียเปล่า ผมยังมีเป้าหมายให้ทำต่อ ทุกอย่างอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ใจหวังตลอดหลังจากนี้ แต่เราควรจะทำให้เต็มที่ ให้ไม่มีข้ออ้างกับตัวเองแล้วมาเสียใจในภายหลัง
หวังว่าบทความจะเป็นประโยชน์กับทุกคนครับ
ผมก็ไม่ใช่คนที่เก่งอะไร
แต่ผมแค่โชคดี
โชคดีที่ได้เจออนิเมะ
โชคดีที่ได้เจอภาษาญี่ปุ่น
และโชคดีที่ได้รับการตอบแทนจากความพยายามที่มาจากความชอบ
ก็หวังว่าทุกท่านที่ชอบอนิเมะและเรียนภาษาญี่ปุ่นเหมือนผม จะโชคดีเหมือนๆกันครับ