เรียนภาษาญี่ปุ่น เริ่มยังไง ซื้อหนังสืออะไร รวมสิ่งที่ควรรู้ก่อนเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างละเอียด

ก่อนหน้านี้เจ้าของบล็อคได้เขียนบทความ เรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองประสบการณ์สอบผ่าน N1 ในระยะเวลาราว 3.5 ปี ซึ่งเป็นบทความที่สรุปแนวทางในการเรียนภาษาญี่ปุ่นแบบย่อ ๆ ไว้แล้ว อย่างไรก็ดี ด้วยความที่บทความนั้นอาจจะเหมาะกับผู้ที่กำลังศึกษาภาษาญี่ปุ่นอยู่แล้ว เจ้าของบล็อคเลยของอนุญาตมาเขียนบทความใหม่ที่จะแนะนำแนวทางในการเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับคนที่คิดจะเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นแยกออกมา ซึ่งแน่นอนว่าบทความนี้ผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ก็สามารถที่จะอ่านได้เช่นกัน แต่จะมุ่งเน้นวิธีการเรียนภาษาสำหรับคนที่ไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นเลย

อยากจะเรียนภาษาญี่ปุ่น

เราไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นเลย ภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง จะเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ไหม อาจจะเป็นคำถามที่คุณผู้อ่านบางท่านมีอยู่ในใจ ในฐานะคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นมานานและอยู่กับภาษาญี่ปุ่นทุกวัน เจ้าของบล็อคเลยขอการันตีไว้เลยว่า

ถ้าคุณสามารถ ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทย ได้คล่อง คุณก็สามารถ ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาญี่ปุ่น ได้คล่องเฉกเช่นเดียวกัน

แต่ด้วยที่ว่าภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา การที่เราจะพูดภาษาญี่ปุ่นให้เหมือนกับพูดภาษาไทย อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามระดับหนึ่ง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยในการใช้ภาษาเพื่อพัฒนาทักษะในการ ฟัง พูด อ่าน เขียน

ภาษาญี่ปุ่นยากกว่าภาษาอังกฤษไหม ต้องบอกเลยว่าไม่ได้ยากกว่าเพียงแค่เราเคยชินกับมันน้อยกว่าทำให้เรารู้สึกว่ามันยากกว่าภาษาอังกฤษ ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษ ถ้าอยู่ในระดับสูง ก็ไม่มีอะไรยากกว่ากันมาก มีคนหลายคนที่เก่งภาษาญี่ปุ่นแต่ไม่ได้ภาษาอังกฤษ สาเหตุก็เพียงแค่เขาคงไม่ได้คิดจะพัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเองเหมือนกับภาษาญี่ปุ่น

มาพูดถึงในส่วนของความเก่งภาษาอังกฤษ หรือความฉลาดทางสติปัญญา โดยพื้นฐานแล้วไม่น่าจะส่งผลกระทบกับการศึกษาภาษาญี่ปุ่นแต่อย่างใด สิ่งที่ส่งผลมากที่สุดคือวินัยหรือก็คือความพยายามในการเรียนรู้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วคนญี่ปุ่นก็คงพูดภาษาญี่ปุ่นกันคล่องเกือบทุกคนไม่ได้

ถ้าคุณศึกษาภาษาญี่ปุ่นด้วยแนวทางที่ผมกำลังจะกล่าว ผมขอรับรองเลยว่าคุณจะเก่งภาษาญี่ปุ่นในระดับที่ว่าสามารถเถียงกับคนญี่ปุ่นด้วยภาษาญี่ปุ่นราวกับภาษาแม่ของคุณได้เลย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางในการเรียนภาษาญี่ปุ่นของคุณอาจจะไม่ได้ราบรื่น การเรียนพื้นฐานมันไม่ได้ง่ายและสนุกเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรียนภาษาญี่ปุ่นจนถึงระดับหนึ่งแล้ว พัฒนาการทางภาษาก็จะเริ่มช้าลงเรื่อย ๆ จนทำให้คุณไม่อยากเรียนมันต่อไป

เป็นนักเรียน นักศึกษา มนุษย์เงินเดือน เรียนภาษาญี่ปุ่นได้ไหม

สำหรับตัวเจ้าของบล็อค เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นในช่วงมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างมากที่สุดของชีวิต ทำให้สามารถอ่านหนังสือทุกวัน ทุกเวลา ก่อนนอน หลังตื่นนอน เล่มหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 – 20 รอบ ถ้าคุณผู้อ่านเป็นนักเรียนนักศึกษา คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาญี่ปุ่นมากกว่ามนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานเยอะมาก

อย่างไรก็ตามมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายแม้จะไม่ได้มีเวลามากเท่าเด็ก ๆ ก็ยังมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาจนไปอยู่ในระดับที่ใช้จริงได้ หากไม่ละทิ้งสิ่งที่เรียน

ความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่เวลาที่เรามี แต่วัดกันที่ความต่อเนื่องของสิ่งที่เราทำ

แม้ภาษาญี่ปุ่นของเจ้าของบล็อคจะอยู่ในระดับที่ดีใช้ทำงานได้แล้วก็ตาม ก็ไม่เคยเลิกที่จะเรียนรู้ พยายามหาคำศัพท์ใหม่ ๆ และวิธีการพูดภาษาญี่ปุ่นให้ดีเท่าหรือเก่งกว่าคนญี่ปุ่นอยู่เสมอ เพราะเจ้าของบล็อคมองว่าทักษะในการพูดเป็นสิ่งที่สำคัญพอ ๆ กับทักษะเฉพาะทางอื่น ๆ เพราะไม่ว่าเราจะเก่งอะไรมากขนาดไหน แต่เราไม่สามารถสื่อสารได้ดี ก็อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสดี ๆ หลายอย่างในชีวิตไปก็ได้ (แต่ในส่วนภาษาอังกฤษของเจ้าของบล็อคนั้นก็เทียบกับภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลยแม้แต่น้อยในส่วนทักษะของการพูด เพราะเจ้าของบล็อคไม่ได้แคร์ภาษาอังกฤษ แค่ใช้ทำงานได้ก็พอ)

ก่อนจะเริ่มเข้าสู่แนวทางในการเรียน

ต้องบอกผู้อ่านทุกท่านก่อนว่าแนวทางในการเรียนภาษาญี่ปุ่นที่จะพูดต่อไปนี้จะเริ่มตั้งแต่ตอนที่ท่านไม่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นเลย โดยจะแนะนำหนังสือ วิธีการศึกษาและการประยุกต์ใช้เป็นขั้นตอนไป

ทุกสิ่งที่เจ้าของบล็อคกำลังจะแนะนำเป็นสิ่งที่คุณผู้อ่านควรจะทำ แต่คุณผู้อ่านไม่จำเป็นที่จะต้องทำทุกอย่างให้เหมือนกับที่ผมแนะนำซะทีเดียว เพราะคนแต่ละคนก็มีแนวทางในการพัฒนาตัวเองที่ไม่เหมือนกัน บางคนชอบลงมือทำ บางคนชอบจดจำ

สิ่งสำคัญคืออย่าหยุดที่จะเรียนรู้ และอย่าหยุดที่จะชนะตัวเองในทุก ๆ วันก็เพียงพอ

ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าการศึกษาภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องสนุก อย่างไรก็ดีการได้รู้ภาษาญี่ปุ่นทำให้โลกของเรากว้างขึ้นมาก เพราะการเข้าใจภาษาญี่ปุ่นจะทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นในมุมหนึ่งอีกมากมาย (ตัวอย่างเช่น เจ้าของบล็อคไม่อยากจะใช้ภาษาญี่ปุ่น แม้จะพูดได้ เนื่องจากคนต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้มีแนวโน้มที่จะได้รับการปฏิบัติดีกว่าคนต่างชาติที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้)

ถ้าให้พูดง่าย ๆ แม้การเรียนรู้อาจจะไม่ได้สนุก แต่ถ้าคุณรู้ภาษาญี่ปุ่นแล้ว ชีวิตคุณก็จะมีเรื่องสนุก ๆ ขึ้น อย่างน้อยก็ดูอนิเมะ ดราม่า เล่นเกม ไม่ต้องมีซับ ไปเที่ยวญี่ปุ่นได้หลากหลายโดยที่ไม่ต้องกลัวหลง หรือถ้าคุณอยากจะไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น สิ่งนั้นไม่ใช่ความฝันแน่นอน

สิ่งแรกที่ต้องทำ – จำตัวอักษรฮิรางานะและคาตาคานะ

ฮิรางานะ คาตาคานะ ก็คือตัวอักษรของภาษาญี่ปุ่นเหมือนกับ ก ข ค ของบ้านเรา ซึ่งแม้ในความเป็นจริงแล้วคนญี่ปุ่นจะใช้ฮิรางานะหรือคาตาคานะผสมกับคันจิก็ตาม ตัวอักษรสองเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนคันจิ ซึ่งมีอย่างละ 46 ตัว ฮิรางานะจะเป็นอักษรที่ใช้กับภาษาญี่ปุ่นทุกอย่าง ขณะที่คาตาคานะจะเป็นตัวอักษรที่ใช้กับภาษาต่างประเทศ (ตัวอย่างง่าย ๆ เช่นคำว่า คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น) ในส่วนของคันจิที่เป็นอักษรที่มีที่มาจากประเทศจีนจะค่อนข้างมีความซับซ้อน และมีมากถึง 2136 สำหรับคันจิพื้นฐานในการใช้ชีวิต เราจึงไม่ต้องรีบเรียน (เจ้าของบล็อคใช้เวลาเกือบ 3 ปีกว่าจะอ่านคันจิได้ทั้งสองพันกว่าตัว)

แน่นอนว่าสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นหลาย ๆ แห่งจะเริ่มบทเรียนด้วยการท่องจำและทบทวนตัวอักษร เนื่องจากว่าตัวอักษรคานะทั้งสองประเภทนั้นจะมีอยู่ในหนังสือเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐาน (บางทีอาจจะใช้เป็น โรมันจิ หรือตัวอักษรภาษาอังกฤษในการสอนช่วงแรก ซึ่งอาจจะไม่ดีเพราะทำให้จำอักษรคานะได้ช้าลง)

เรียนอ่านตัวอักษรฮิรางานะ • คาตาคานะ

สิ่งที่สำคัญอันดับแรกคือเรียนที่จะอ่านตัวอักษรทั้งสองประเภทให้คล่อง ก่อนที่จะเริ่มเรียนคำศัพท์หรือไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่น โดยยังไม่ต้องใส่ใจกับการเขียนในช่วงแรก เพราะมันจะทำให้การเรียนภาษาในช่วงต้นของเราช้าลงไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะการเขียนสุดท้ายแล้วเราจะทำได้เองในกรณีที่เราต้องใช้ อีกทั้งส่วนมากเราจะพิมพ์อักษรคานะในคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นกิจวัตรมากกว่าเขียนเวลาที่เราใช้จริง

ถ้าคุณพอจะมีเวลาว่าง คุณอาจจะใช้เวลาในการจำตัวอักษรคานะทั้งหมดเพียงแค่ 1 – 2 วันเท่านั้นเพื่อที่จะซึมซับอักษรทั้งหมด แล้วก็อาจจะใช้เวลาจริง ๆ ไม่ถึง 1 เดือนในการที่จะอ่านอักษรคานะทั้งหมดได้คล่อง

การบ้านสำหรับผู้ที่จะเริ่มเรียน เจ้าของบล็อคขอให้ทุกคนไปตั้งใจท่องฮิรางานะกับคาตาคานะจนกว่าจะอ่านได้โดยไม่ต้องคิด เพราะตอนเจ้าของบล็อคเรียนแรก ๆ ก็ปริ้นตัวอักษรฮิรางานะ คาตาคานะออกมาฝึกอ่านตอนที่ว่าง ๆ ระหว่างคาบเรียนที่มหาวิทยาลัย ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือนก็เจียดเวลาช่วงกินข้าวเที่ยวหรือตอนว่าง ๆ หลังเลิกงานฝึกอ่านไปเรื่อย ๆ ไม่เกิน 1 เดือน ถึงจะน่าเบื่อ แต่ถ้าจำจนอ่านได้แล้วเราก็จะจำได้ตลอดไป เพราะในบทเรียนหรือหนังสือที่เราจะใช้มันจะมีฮิรางานะกับคาตาคานะโผล่มาให้เราทบทวนเสมอ จนเราจำได้เองแม้จะไม่อยากจำก็ตาม

มีข่าวดีคือ ถ้าเราอ่านฮิรางานะ คาตาคานะ ได้หมดแล้ว เราก็จะสามารถอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหรือมังหงะได้เนื่องจากการ์ตูนเหล่านี้ทำมาเพื่อเด็กก็จะมีตัวอ่านคันจิซึ่งเป็นตัวคานะไขว้ไว้ ถาเราเรียนคำศัพท์กับไวยากรณ์จนได้พื้นฐานแล้ว ก็จะเริ่มฝึกฝนภาษาญี่ปุ่นผ่านมังหงะได้โดยอัตโนมัติ

ในส่วนของหนังสือฝึกคัดตัวคานะนั้นแนะนำว่าซื้ออะไรก็ได้ ขอให้มันใช้ฝึกคัดได้ก็พอ แต่ถ้าทุกคนมีไอแพดหรือแท็ปเล็ตที่เขียนได้ ผมก็ขอเสนอเอกสารสำหรับการฝึกคัดฮิรางานะฟรีตามลิ้งต่อไปนี้ครับ https://aratono.xyz/free-japanese-materials/

ทำความเข้าใจการออกเสียงแค่พื้นฐาน

あ い う え お

อะ อิ อุ เอะ โอะ

การออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นแม้จะไม่ได้ยากเท่าภาษาไทยที่มีถึง 5 เสียง แต่เสียงสูงและต่ำในภาษาญี่ปุ่นก็ยังส่งผลต่อความหมายของสิ่งที่เราสื่อออกไปในแต่ละสถานการณ์

จากประสบการณ์ของเจ้าของบล็อค ผู้ซึ่งไม่เคยฝึกฝนเรื่องการออกเสียงเป็นพิเศษนอกจากเลียนแบบสิ่งที่เจอในอนิเมะและดราม่า รู้สึกว่าสิ่งที่ผู้เรียนเบื้องต้นจะทำได้ดีที่สุดคือทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานในการออกเสียง เช่น เสียงผสม เสียงควบ (ตัวอย่างง่าย ๆ ก็ มิยุ ถ้าควบก็จะกลายเป็น มิว) โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องของโทนเสียงหรือความเป็นธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราจะฝึกฝนได้เมื่อเรามีพื้นฐานระดับหนึ่งแล้วอยู่ดี ถ้าเราไปโฟกัสการออกเสียงในช่วงแรกอาจจะทำให้การเรียนภาษาญี่ปุ่นของเราเป็นไปได้ช้า น่าเบื่อจนเราอาจจะไม่อยากเรียนต่อไปก็ได้

ขอเสริมนิดนึงว่าอย่างไรก็ดี ถ้าเราออกเสียงภาษาญี่ปุ่นด้วยสำเนียงหรือโทนเสียงภาษาไทย มันจะให้ความรู้สึกเหมือนคนต่างด้าว ซึ่งคล้ายกับการที่เราพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงไทย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้พยายามลอกโทนเสียงที่เคยได้ยินได้ฟังจากอนิเมะหรือดราม่ามาฝึกพูดไปเรื่อย ๆ เวลาว่างครับ

อีกสิ่งที่แนะนำคือให้ฝึกสะกดตัวอักษร อะ อิ อุ เอะ โอ คะ คิ คุ เคะ โคะ บ่อย ๆ เนื่องจากถ้าเราไม่ฝึกไว้ เวลาเราไปพูดจริงมันจะตะกุกตะกักเพราะความไม่เคยชินของลำคอในการออกเสียงครับ

หนังสือที่ควรจะซื้อก่อนจะเข้าบทเรียนอย่างจริงจัง

ถ้าพูดถึงหนังสือที่ควรจะซื้อก็จะต้องประกอบไปด้วยหนังสือต่อไปนี้ครับ

  • หนังสือที่สอนพื้นฐานไวยากรณ์และคำศัพท์ในระดับเบื้องต้นอย่างครบถ้วน
  • หนังสือรวมคำศัพท์ที่จำเป็น
  • หนังสือคัดตัวอักษรคินจิ พร้อมคำอธิบาย

หนังสือที่สอนพื้นฐานไวยากรณ์และคำศัพท์ในระดับเบื้องต้นอย่างครบถ้วน

มินนะ โนะ นิฮงโกะ

สำหรับหนังสือที่สอนพื้นฐานไวยากรณ์และคำศัพท์จะมีอยู่ไม่กี่สำนัก แต่ที่เป็นมาตรฐานและเนื้อหาครบถ้วนก็จะมี มินนะ โนะ นิฮง โกะ ที่มี 4 เล่ม โดยความรู้ของหนังสือ 4 เล่มนี้สามารถนำไปใช้สอบในระดับ N4 ได้เลย (การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นคืออะไร มีกี่ระดับตามไปดูได้ที่ https://aratono.xyz/jlpt-thailand/ )

หนังสือรวมคำศัพท์ที่จำเป็น

ในส่วนของหนังสือคำศัพท์ ต้องบอกตามตรงว่ามันมีเยอะ แต่เพื่อความต่อเนื่องและเรียนอย่างมีประสิทธิภาพขอแนะนำให้ซื้อ “รวมศัพท์ มินนะ โนะ นิฮงโกะ” มาท่อง ซึ่งจริง ๆ แล้วก็จะเป็นคำศัพท์ที่มีสอนใน มินนะ โนะ นิฮง โกะ ทั้งสี่เล่ม แต่มีการจัดหมวดหมู่ไว้ ง่ายแก่การอ่าน

รวมศัพท์ มินนะ โนะ นิฮงโกะ

หนังสือคัดตัวอักษรคินจิ พร้อมคำอธิบาย

ในส่วนของหนังสือคัดคันจิ อันนี้ทางเจ้าของบล็อคไม่มีแนะนำเป็นพิเศษ แต่แนะนำให้ซื้อหนังสือคันจิแต่ละดับมาท่องคัดตั้งแต่ N5-N1 แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็ซื้อหนังสือที่มีการอธิบายรากของคันจิหรือองค์ประกอบของคันจิมาเรียน เพราะจะทำให้เราเรียนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการจำคันจิเป็นออักษรตัว ๆ ไป

หนังสือแนะนำมีแค่นี้เอง?

มาถึงจุดนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าแนะนำหนังสือแค่สองเล่มเองเหรอ ต้องบอกว่าหนังสือแค่สองเล่มที่กล่าวมานั้นเป็นหนังสือที่จะตัดสินความสามารถภาษาญี่ปุ่นของคุณไปตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้ อาจจะดูเหมือนพูดเวอร์ แต่สำหรับเจ้าของบล็อคมองว่า สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการศึกษาภาษาคือพื้นฐานที่แน่น ถ้าเราเรียนไปแบบไม่รู้พื้นฐานจริง ๆ สุดท้ายเราจะไปตายตอนที่เราเรียนในระดับกลางและสูง และทำให้เราไม่สามารถเป็นผู้ใช้ภาษาในระดับมืออาชีพได้จริง ๆ ยืนยันจากประสบการณ์ตรงของเจ้าของบล็อคที่อ่านมินนะเล่ม 2-4 ไม่ต่ำกว่า 15 รอบ (มันจะอ่านเร็วขึ้นเมื่ออ่านไป 3-5 รอบ) ทำให้เจ้าของบล็อคมีความรู้พื้นฐานภาษาญี่ปุ่นในระดับที่พอใจใช้ได้ (ขนาดอ่านเยอะแล้วก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ) ส่งผลให้เวลาที่อ่านหนังสือภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองไปได้เร็วขึ้นอย่างมาก ถ้าคุณไม่ทำให้พื้นฐานคุณแน่น พอข้ามมาระดับกลางแล้ว เจ้าของบล็อคเชื่อว่าน้อยคนที่จะย้อนกลับไปทบทวนพื้นฐานอีกรอบ ซึ่งจะส่งผลให้ภาษาญี่ปุ่นไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะยาวจนอาจส่งผลให้เลิกเรียนไปเลยก็ได้

โดยบทสรุปอยากให้ทุกคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นใส่ใจกับหนังสือสองเล่มนี้เป็นพิเศษ สำหรับตัวเจ้าของบล็อคเองเรียกว่าอ่านทุกวันตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย ทำให้ใช้เวลา ครึ่งปีกว่า ๆ จนบรรลุหนังสือมินนะเล่ม 2-4 ได้ (ไม่ได้อ่านเล่ม 1 เพราะว่ามีพื้นฐานที่ไปซ้ำกับเล่ม 1 นิดหน่อยจากสถาบันสอนภาษา จริง ๆ ควรจะอ่าน)

เรียนรู้คำศัพท์ เริ่มยังไงดี

แม้ว่าจะแนะนำหนังสือรวมคำศัพท์ไปแล้วข้างบน แต่เจ้าของบล็อคก็รู้ดีว่าการท่องคำศัพท์จากหนังสือโดยไม่มีเป้าหมายมันน่าเบื่อมากแค่ไหน

ทีนี้ต้องขออนุญาตพูดถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ตัวหนึ่งก่อนว่าเมื่อเราพยายามจะจำอะไรสักอย่าง เช่น คำศัพท์ เอาเป็นคำว่า สุกี้ (suki すき 好き) ซึ่งแปลว่า ชอบ ให้เราพูดออกมาเป็นเสียง หรือเอาไปสอนใครสักคน (ตรงนี้ขอให้ทุกคนไปพูดคำว่า สุกี้ 100 ครั้ง โดยไม่ต้องตั้งคำถาม) โดยใช้เวลาในการพูดหรือสอนซ้ำไปมาประมาณ 40 วินาที จะทำให้จดจำมันไปได้อีกเป็นเวลาราว 2 อาทิตย์ แล้วถ้าเราทำไปทุกวันแปบเดียวมันก็จะกลายเป็นความทรงจำระยะยาวที่เราจะไม่ลืมไปจนตายเลยก็ว่าได้ ในทางกลับกันถ้าเราไม่ output หรือถ่ายทอดสิ่งที่เราพยายามจะจำ แค่ท่องจำไว้ในใจ เราก็จะลืมมันไปอย่างงายดาย

ทีนี้เราจะประยุกต์ใช้การ output ที่ว่าเพื่อใช้จดจำคำศัพท์ได้อย่างไร ?

เจ้าของบล็อคก็อยากจะให้ทุกคนจำคำศัพท์ ที่เราใช้บ่อย หรือ ใกล้ตัวเรา อย่างคำว่า โทรศัพท์ หิวข้าว น้ำ เบื่อ ง่วง ฯลฯ แล้วพูดออกมาเป็นเสียงโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะออกเสียงถูกไหม ขอแค่ให้มันติดหัวเราไปก่อนก็พอ ก็คือถ้าจะเรียก หมา ก็ให้เรียกว่า อินุ เรียกแมวก็เรียกว่า เนโกะ

เทคนิคต่อมาที่จะทำให้เราได้คำศัพท์คือ คัดคันจิ

แน่นอนว่าอ่านไม่ผิดครับ เพราะการคัดคันจิคือการเรียนรู้ความหมาย เสียงอ่าน และคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับตัวอักษรไปในตัว ความเชื่อมโยงตรงนี้จะทำให้เราจดจำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้นครับ

ขออนุญาตยกตัวอย่างคันจิคำว่า สุกี้ หรือ ชอบ ที่ผมยกตัวอย่างไปข้างบนนะครับ

好き

สุกี้

องค์ประกอบของคันจิคำว่า สุกี้ มีตัว คันจิที่แปลว่า ชอบ อ่านว่า ตามด้วยตัวฮิรางานะที่อ่านว่า คิ รวมกันเป็น สุกี้ (ขออนุญาตเรียกสุกี้) ที่นี้มาดูตัวคันจิเดี๋ยว ๆ

โค

คันจิตัวนี้ประกอบด้วยคันจิ ผู้หญิง (女) กับคนจิ เด็ก (子) เวลาเอาไปประสมกับคันจิตัวอื่นส่วนมากจะอ่านว่า โค

เอาแค่นี้ก่อนนะครับในส่วนของคันจิ

สิ่งที่ผมอยากจะสื่อก็คือ แค่คันจิตัวเดียวมันมีเรื่องราวมากมายที่เชื่อมโยงกัน ทำให้เราได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน นี่คือความมหัศจรรย์ของคันจิ

ท้ายที่สุดแล้วหลักในการจำคำศัพท์ คันจิ ไวยากรณ์ จริง ๆ มันอยู่ในลักษณะเดียวกันหมดเลยคือทำให้มันเป็น กิจวัตร แล้วมันจะทำให้เราสามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรียนรู้ไวยากรณ์ เริ่มยังไงดี

อะนะตะ ก๊ะ สุกิ เดส

(ผม/ฉัน) ชอบคุณ

ถ้าพูดถึงไวยากรณ์แล้ว หลาย ๆ คนที่เรียนก็จะเริ่มมีความรู้สึกต่อต้าน ไม่อยากเรียน แต่จริง ๆ ต้องบอกเลยว่าไวยากรณมันก็มีลักษณะที่คล้ายคำศัพท์ แค่มันมาในรูปแบบของแพทเทิร์นยาวที่เราใช้เป็นโครงสร้างของประโยค

ไวยากรณ์ญี่ปุ่นจะยากที่สุดในช่วงแรก ๆ เนื่องจากโครงสร้างของภาษาที่สลับกับไทยทำให้ช่วงแรกที่เราเรียนเราจะเสียเวลาในการแปลจากหลังไปหน้าเยอะพอสมควร หรือจะให้พูดอีกอย่างก็คือเราไม่สามารถประมวลผลได้ทัน แต่เจ้าของบล็อคขอยืนยันเลยว่าถ้าเรียนไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับสูงจนใช้คล่องแล้ว เราจะไม่ค่อยมีปัญหาในการใช้ภาษา เพราะเราจะใช้ภาษาญี่ปุ่นเหมือนภาษาแม่ มันก็จะเข้าใจได้โดยอัตโนมัติ

ความยากของไวยากรณ์ญี่ปุ่นต่อมาน่าจะเป็นตัว คำเชื่อม ที่มีอยู่เยอะมาก และใช้ให้คล่องยาก เน้นความเคยชินมากกว่าการจำไปตอบข้อสอบ เป็นตัวที่ทำให้คนตกม้าตายมาเยอะมาก ต้องบอกเลยว่าทุกครั้งที่เจ้าของบล็อคเห็นคนไทยหรือคนต่างชาติพิมพ์ภาษาญี่ปุ่น จะพบว่าหลายคนที่มีภาษาญี่ปุ่นในระดับกลางหรือกลางค่อนสูงจะใช้คำเชื่อมผิด เพราะไม่ได้เข้าใจพื้นฐานของคำเชื่อมจริง ๆ

เพื่อให้คนที่ไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นเข้าใจได้ จะลองยกตัวอย่างประโยคให้ดูตามด้านล่าง

ฉันจะกินข้าว == watashi wa gohan wo tabemasu (วาตาชิ วะ โกะฮัง โวะ ทาเบมัส)

ทีนี้พอแยกโครงสร้างประโยคของแต่ละภาษาให้ดูก็จะเป็นตามด้านล่างครับ

ไทย

ฉัน (ประธาน) + จะ (กริยานุเคราะห์) + กิน (กริยา) + ข้าว (กรรม)

ฉัน จะ กิน ข้าว

ญี่ปุ่น

วาตาชิ (ฉัน) (ประธาน) + วะ (คำเชื่อม) + โกะฮัง (ข้าว) (กรรม) + โวะ (คำเชื่อม) + ทาเบมัส (จะกิน) (กริยา)

ฉัน ข้าว จะกิน

อันนี้เป็นประโยคที่ง่ายที่สุด มันก็จะยังไม่ค่อยซับซ้อน บางคนอาจจะคิดว่าก็แค่สลับกรรมกับกริยา แต่ลองคิดว่าถ้าเป็นประโยคยาว ๆ ที่มีคำเชื่อมไม่รู้กี่แบบมาวางซ้อน ๆ กัน ขอบอกได้เลยว่าถ้าไม่ใช่คนที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นเก่งจริง ๆ ต่อให้อยู่ญี่ปุ่นมาเป็นสิบปีก็ใช้คำเชื่อมผิดครับ

แล้วทำยังไงถึงจะเก่งไวยากรณ์ ?

ก็คือสำหรับผู้เริ่มต้นเรียนผมแนะนำให้ท่องไวยากรณ์ไปโต้ง ๆ แค่สอบให้ผ่านก่อน ไม่ต้องกลัวว่าใช้ไวยากรณ์ผิดแล้วคนจะมองเราว่าเป็นต่างด้าวหรืออะไร มีข่าวดีที่ว่าไวยากรณ์ญี่ปุ่นเป็นอะไรที่เขาใจได้ง่ายกว่าภาษาอังกฤษจากประสบการณ์ (ถ้าเทียบโครงสร้างไวยากรณ์ระดับสูง) และข้อสอบวัดระดับไวยากรณ์จะเป็นพาร์ทที่ทำถูกได้ทุกข้อง่ายที่สุด

มาถึงตรงนี้ก็เหมือนจะไม่มีเทคนิคพิเศษให้ผู้อ่านเลย จริง ๆ แล้วเป็นเพราะว่าพาร์ทไวยากรณ์เป็นพาร์ทที่ผมไม่อยากให้ผู้เรียนเบื้องต้นให้ความสำคัญมากนัก เพราะเป็นพาร์ทที่น่าเบื่อ

แบบฝึกหัดในหนังสือ อย่าไปทำ

ทำไปเสียเวลาไม่คุ้ม

อันนี้ก็แล้วแต่คน

คืออันนี้เป็นคำแนะนำที่ค่อนข้างเฉพาะตัว เพราะปกติแล้วหลายคนคงคิดว่าแบบฝึกหัดเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อทบทวนความรู้ของเรา แต่อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ของเจ้าของบล็อคพบว่า แบบฝึกหัดทั้งหลายนั้นน่าเบื่อ แล้วทำให้เราเสียเวลามากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเราต้องมานั่งตรวจคำตอบ เปิดไฟล์เสียง ฯลฯ ซึ่งถ้าเราเอาเวลาตรงนี้ไปอ่านทวนซ้ำในเนื้อหาที่เราเรียนมาเพื่อให้มันติอยู่ในความทรงจำเราจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากันเยอะ เลยอยากแนะนำให้อ่านทวนหนังสือ หรือตัวอย่างต่าง ๆ ที่เราไม่ต้องตอบเอง มากกว่าไปนั่งทำแบบทดสอบ

ก่อนจากไป

ที่แนะนำมาข้างบนทั้งหมด น่าจะเป็นแค่หลักการพื้นฐานในการเรียนภาษาญี่ปุ่น อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่สามารถศึกษาภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองได้ (ส่วนมากหลายคนทำไม่ได้) แนะนำให้ลองไปลงคอร์สพื้นฐานสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นไหนก็ได้ที่ใกล้บ้านและมีคนญี่ปุ่นสอน เพื่อลองเชิงว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับเราไหม โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าภาษาไม่ว่าจะภาษาไหนก็ไม่ยากเกินความสามารถทุกคนในการเรียน

ถ้าใครสนใจจะเรียนกับเจ้าของบล็อค อยากบอกว่าไม่ได้เปิดสอน แต่ส่วนตัวเป็นคนที่รู้สึกขอบคุณภาษาญี่ปุ่นแล้วก็เคยชอบอนิเมะมาก ๆ จนอยากจะตายไปโลกอนิเมะ เป็นความรู้สึกเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดอนิเมะแบบจริงจัง เมื่อช่วงปี 2010

ทุกครั้งที่ใครถามผมว่าทำไมผมถึงเรียนภาษาญี่ปุ่นมาได้ถึงปัจจุบัน ผมก็ยังคงจะตอบว่า

ผมเคยติดอนิเมะมาก จนอยากตายไปโลกอนิเมะ

ความรู้สึกอินนี้เจ้าของบล็อคก็ไม่อยากเก็บมันไว้คนเดียว

อยากให้ทุกคนได้สัมผัสโลก สังคม และวัฒนธรรม ทั้งขาวและดำ ของญี่ปุ่นเหมือนกับที่ผมได้สัมผัสมา

ถ้าคุณมีไฟในการเรียนภาษาญี่ปุ่นและมีคำถามอะไรเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นที่ google ไม่เจอ ถามผ่านแฟนเพจได้ทุกเมื่อ ยินดีตอบ อยากให้ทุกคนเก่งภาษาญี่ปุ่น

ขอให้ทุกคนโชคดีในการเรียนภาษาญี่ปุ่นครับ

Studyカテゴリの最新記事