เรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองประสบการณ์สอบผ่าน N1 ในระยะเวลาราว 3.5 ปี

บทนำ

ต้องกล่าวก่อนว่าที่ผมมาเขียนบทความนี้ก็เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองให้กับทุกคนไม่ว่าจะเด็กประถม มัธยม มหาลัย วัยทำงาน

จากประสบการณ์ตรงของคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด จนสอบผ่านวัดระดับ N1 ในช่วงปี 2013 โดยใช้เวลาอยู่ที่ 3-4 ปี

เดิมทีผมก็เป็นเด็กขี้เกียจ เรียนติด 0 ตอนมัธยม ภาษาอังกฤษสอบตกบ่อยแบบทุกคนในห้องต้องหันมามองตอนประกาศคะแนนว่าทำไมโง่เกินหน้าตาได้ขนาดนี้ แค่นี้ก็คงพอจะเดาได้ว่าความสามารถทางภาษาผมตกต่ำขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในสาขาวิชานิติศาสตร์ สิ่งที่ผมคิดในเวลานั้นคือ ผมต้องมีอะไรมากกว่าคนอื่นตอนเรียนจบ ก็เลยตัดสินใจว่าจะไปเรียนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนสอนภาษาดู

ในตอนนั้นคือจะเรียนภาษาญี่ปุ่นไว้เพื่อเตรียมตัวก่อนออกสู่สังคมการทำงาน

สุดท้ายก็เลยเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นกับสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นแห่งหนึ่งแถวอนุสาวรีย์แบบ “สโลว์ไลฟ์” โดยคิดแบบง่ายๆว่าเดี๋ยวมันก็เก่งเอง

ระยะเวลาการเรียนกับสถาบันคือประมาณ 8-9 เดือน แต่ชั่วโมงเรียนจริงๆประมาณ 60 ชั่วโมง ซึ่งน่าจะใช้เวลาเรียนจบได้จริงๆในหนึ่งเดือน เพราะว่าเรียนอาทิตย์ละ 2 วัน

พอย้อนกลับไปมองแล้วคือ เราทำอะไรลงไป เสียเวลาเรียนไปเกือบปี เรียนภาษาญี่ปุ่นมาพูดกับแฟนในจินตนาการยังไม่ได้เลย !!!

ความรู้ ณ เวลานั้น คือ ตัวอักษรคานะ (ตัวอ่านของภาษาญี่ปุ่น) อ่านออกบ้างไม่ออกบ้าง คำศัพท์ก็ ฮัลโหล สวัสดีตอนเช้า สาย บ่าย เย็น โตโยต้า ฮอนด้า เรียกว่าได้แค่เบื้องต้นสุด ๆ จริง ๆ

แต่แล้ว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป จากการติดอนิเมชั่นญี่ปุ่นอย่างบ้าคลั่ง ขอย้ำว่า “อย่างบ้าคลั่ง”

มันเกิดจากการที่ผมไปดูอนิเมะเรื่องหนึ่งชื่อว่า Shuffle ในช่วงปี 2010

Image result for shuffle anime
ถ้าไปดูตอนนี้คงไม่อินแล้ว

พอดูเสร็จแล้วก็มีความรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า

“อยากจะเข้าใจความรู้สึกของพระเอกที่มีนางเอกรายล้อม”

ทำไมพระเอกหน้าตาก็ธรรมดา นิสัยก็ธรรมดา สมองก็ไม่ได้ดี ทำไมมันมีคนชอบเยอะจังโฟ้ยยย !!! อยากจะเข้าใจ …

เรียกว่าอินกับอนิเมะเรื่องนี้มากจนนั่งกอดเข่าเพ้ออยู่เป็นอาทิตย์ได้

เลยตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าเราจะอ่านหนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ทุกวัน เพื่อที่จะเข้าใจอนิเมะให้ได้มากขึ้น

ก็เลยเริ่ม เรียนภาษาญี่ปุ่น ด้วยตัวเองและพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดเวลาผ่านไป

• ประมาณ 1 ปี 8 เดือน สอบผ่าน N2 (ตกรอบแรก)

• ประมาณ 3 ปี 5 เดือน สอบผ่าน N1 (ตกรอบแรก)

ถ้าคิดว่าผมโกงการนับเพราะ 1 ปีแรกผมไม่นับเป็นเวลาเต็มๆ ก็เชิญบวกเวลาตามอัธยาศัย แต่จุดประสงค์ของบทความมันอยู่ที่ว่าถ้าคุณตั้งใจ คุณน่าจะใช้เวลาเท่านี้ มากกว่าประเด็นที่ว่าผมใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งก็อาจจะเร็วกว่านี้ก็ได้ เพราะปีนึงมันดันเปิดสอบแค่สองครั้ง

“แน่นอนว่าผมยังไม่เคยขึ้นเครื่องบินไปประเทศญี่ปุ่นแม้ครั้งเดียวในชีวิตเลยก่อนที่จะสอบผ่าน”

ถ้าคุณอยากจะ เรียนภาษาญี่ปุ่น ด้วยตัวเอง แต่กลัวว่าจะไม่คุ้มค่าเวลาที่เสียไป ลองมาดูแนวทางของผม เผื่อคุณจะมีกำลังใจในการเรียนด้วยตัวเองมากขึ้น

เด็กขี้เกียจก็ เรียนภาษาญี่ปุ่น เองได้ เชื่อผม ผมทำมาแล้ว ทุกวันนั่งตีดอท ตบ LOL มากกว่า 3000 เกม

พูดง่ายๆสำหรับคนที่ไม่เล่นเกมคือเฉลี่ยเวลาชีวิตส่วนมากของผมอยู่ที่เกม คิดเอา

แล้วมันเอาเวลาที่ไหนไปเรียนภาษาญี่ปุ่น !!

เอาเวลาที่ไหนไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย !!

ถึงจุดนี้ก็เริ่มสงสัยเหมือนกันว่าตัวเองเรียนภาษาญี่ปุ่นมาได้ยังไง

แต่เอาเถอะ ผมเรียนมาแล้ว ตอนนี้ผมอยากให้ทุกคนมาเรียนด้วยกัน แบบขี้เกียจๆ แต่มีประสิทธิภาพ

เริ่มที่เป้าหมายของคุณ

ก่อนที่คุณจะเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ผมแนะนำให้ตอบกับตัวเองก่อนเลยว่า 

คุณแน่ใจรึเปล่าที่จะเรียนภาษาญี่ปุ่น ? 

ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ไม่ได้แพร่หลายเท่าภาษาอังกฤษ เพราะมันไม่ใช่ภาษาสากล เรียนไปถ้าไม่ได้ใช้มันก็จะเสียเปล่า ถ้าคุณไม่พยายามจะเอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ตลอด (เช่น ไปใช้ชีวิตสังคมญี่ปุ่น ทำงานกับคนญี่ปุ่น) ต่อให้คุณเรียนจนบรรลุไปแล้ว คุณก็จะลืมมันไปอย่างแน่นอน

ยิ่งกว่านั้นภาษาญี่ปุ่นยังมีตัวอักษรคันจิซึ่งต้องจำมากกว่าสองพันตัว (เรียกว่า โจโยคันจิ ดูรายละเอียดได้ตามลิ้งนี้) ถ้าคุณเลิกอ่านหนังสือ คุณลืมอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้นคุณต้องมองเป้าหมายของตัวเองให้แน่นอนว่าคุณจะอยู่กับ ภาษาญี่ปุ่น ไปอีกนานแค่ไหน ทั้งชีวิตเลยหรือไม่ ?

สำหรับผมตั้งแต่ผมสอบผ่าน N2 แบบไม่ได้เตรียมตัวได้ ผมก็รู้สึกว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ผมจะอยู่กับมันไปจนวันตาย

เป้าหมายที่แน่นอนอาจจะดำเนินไปเป็นขั้นๆ เริ่มจากอ่านการ์ตูนรู้เรื่อง ต่อมาก็ฟังอนิเมชั่นชีวิตประจำวันรู้เรื่อง แล้วก็อ่านนิยายรู้เรื่อง อะไรแบบนั้น แล้วพอคุณมีความสามารถขึ้นมาระดับหนึ่งคุณก็เอาไปปรับใช้กับงานของคุณได้ด้วย

สุดท้ายแล้วในการลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ภาษาญี่ปุ่น คุณต้องมีเป้าหมาย และ “ใส่ใจ” กับสิ่งที่คุณจะทำ

แรงบันดาลใจ

สิ่งที่จะขับเคลื่อนคุณไปข้างหน้า ยิ่งมีเยอะยิ่งดี ไม่ว่าจะเป็นเกม การ์ตูน ดารา เพื่อน แฟน สังคม ถ้าคุณไม่มี ยากที่การเรียนจะดำเนินไปอย่างราบลื่นได้ เพราะคุณจะไม่มีแรงกระตุ้น และท้ายที่สุด คุณอาจจะทิ้งมันไป เวลาที่คุณเสียไปทั้งหมดในการเรียนภาษาญี่ปุ่นจะเป็น “ความสูญเปล่า”

เป้าหมายก็อาจจะเป็นอะไรที่ไร้สาระก็ได้ ตัวอย่างเช่น

“อยากได้แฟนญี่ปุ่นโฟ้ยยยย”

ถ้าไม่ได้ภาษาญี่ปุ่น เราจะไปจีบใครได้ ขอมือหมามันยังไม่ให้เลย !!

ตัดสินใจ

ตัดสินใจในที่นี้หมายความว่าคุณพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นกับการเรียน

ทว่าคำตอบมันไม่ได้มาจากการคิดแต่มาจาก “การกระทำ

หมายถึงคุณจะต้องเริ่มทำมันไปโดยตัวของคุณเอง คุณต้องไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือเครียดที่จะเริ่มต้น

คุณต้องเริ่มมันไปในลักษณะ “ส่วนหนึ่ง” ของชีวิตประจำวันของคุณ

จุดเริ่มต้น

สำหรับผมเริ่มต้นจากความรู้งูๆปลาๆซาลาแมนเดอร์ จากสถาบันสอนภาษาแห่งหนึ่งย่านอนุสาวรีย์

จุดนี้อาจจะต่างกับคนที่เริ่มด้วยตัวเอง 100% เพราะจุดเริ่มต้นมันเป็นจุดที่ยากที่สุด การที่คุณจะมานั่งคัดอักษร เรียนคำศัพท์อย่าง “ทางม้าลาย สี่แยก โต๊ะ เก้าอี้” มันน่าเบื่อมาก

ตัวผมเองก็เคยคิดว่าถ้าต้องมาเริ่มจากเองจะได้ภาษาญี่ปุ่นระดับนี้รึเปล่า ? ก็ตอบยาก แต่คิดว่าไม่น่าจะได้เหมือนกัน ก็คงเป็นความบังเอิญที่ทุกอย่างมันลงตัวพอดี ทำให้ผมสามารถพัฒนาภาษาของตัวเองมาได้ถึงระดับที่สามารถใช้งานในระดับสูงได้

แต่อย่างไรก็ตามตอนมาเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นเองจริงจังก็คือความรู้น้อยมาก

ตอนเรียนไปก็มีงงบ้างอะไรบ้าง แต่ในทุกๆครั้งผมอ่านหนังสือทวนหลายครั้งมากจนเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็หาคนถามตามเว็ปบอร์ดเอา (อ่านทวนหนังสือหนึ่งเล่มมากอย่างน้อยที่สุดคือ 10 รอบ มากที่สุดน่าจะราว 20 รอบขึ้นไป)

จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือ “หาคอร์สเร่งรัดเรียน แต่ให้อ่านหนังสือนำหน้าบทเรียน” แล้ววันนึงที่คุณยังเรียนอยู่กับอาจารย์หรือสถาบัน คุณจะแบกคำถามนอกบทเรียนไปถามเขาได้อีกมากมาย จนคุณรู้สึกว่าสามารถที่จะเรียนด้วยตัวเองได้

หนังสือหลักในการเริ่มเรียน

ผมเป็นคนที่เริ่มเรียนด้วยตัวเองรุ่นเก่า ปัจจุบันมีหนังสือภาษาญี่ปุ่นออกมามากมาย และที่ดีก็คงมีไม่น้อย แต่หนังสือที่เป็นมาตรฐานในการเรียนที่ผมมั่นใจว่ามันดีไม่เปลี่ยนแปลงจะมีแค่ 3 เล่ม ซึ่งมันให้พื้นฐานทางภาษาที่ดีมาก แม้จะไม่ใช่หนังสือที่ดีที่สุดในการอ่านสอบ แต่

“ยังไงก็ต้องซื้อ”

มินนะ โนะ นิฮงโกะ (เล่ม 1-4)
ไวยากรณ์ N2 (แปลจาก Shin Kanzen Master)
500 รูปประโยคภาษาญี่ปุ่น N1-N3

ผมค่อนข้างมั่นใจในพื้นฐานที่หนังสือพวกนี้จะให้กับทุกคน

มินนะ โนะ นิฮงโกะ (เดิมผมอ่านเวอร์ชั่นเก่า ปกก็ไม่ใช่แบบข้างบน) ต้องยอมรับว่าเนื้อหาค่อนข้างน่าเบื่อ แต่ให้พื้นฐานที่คนเรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคนต้องมีไว้อย่างครบถ้วน ขอกราบหนังสือชุดนี้เลย สำหรับผมเองอ่านเล่ม 2-4 ทวนเล่มละ 20 รอบขึ้นไป อาจจะดูเยอะ แต่พอเริ่มทวนรอบที่ 5 มันจะเร็วขึ้นมาก เรียกว่าอ่านจนสามารถเขียนมินนะ โนะ นิฮงโกะ ขายเองได้เลย

สำหรับไวยากรณ์ N2 (เดิมผมอ่านปกสีแดง ๆ ซึ่งไม่มีขายแล้วในท้องตลาด อัน ข้างบน นี้เนื้อหาน่าจะดีขึ้น) อาจจะมีความกำกวมหรือความไม่ชัดแจ้งในคำอธิบายที่เกี่ยวกับรูปประโยคอยู่เยอะ แต่พออ่านหนังสือ 500 รูปประโยค (เดิมผมอ่านปกสีขาว ซึ่งไม่มีขายแล้วในท้องตลาด อันข้างบนนี้เนื้อหาน่าจะดีขึ้น ) ก็จะทำให้เราเข้าใจโครงสร้างของรูปประโยคได้ดีขึ้น

เส้นทางการเรียน ภาษาญี่ปุ่น ด้วยตัวเอง

การเรียนของผมนั้นจำได้ว่าในตอนแรกจะควบคู่ไปกับการดูอนิเมะ ดราม่าญี่ปุ่นบทบรรยายภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มพูนคำศัพท์ทั้งอังกฤษและญี่ปุ่น โดยหลักแล้วอนิเมะมักจะให้คำศัพท์แปลกๆยากๆกับเราและเราจะจำมันได้ไปตลอด แต่หนังสือเรียนจะให้คำศัพท์พื้นฐานที่ให้เราเอาไปใช้ได้จริงแต่เรามักจะลืม

ทั้งนี้พอเราเรียนศัพท์ รูปประโยคจากหนังสือ หลายครั้งที่เราจะได้ไปทวนตรงบทพูดของตัวละครในอนิเมชั่นครับ มันก็เป็นการประสานกันของสื่อที่ทำให้เราได้เรียนไปได้อย่างราบลื่น

โดยพอเราไปเจอ Event อะไรสักอย่างในชีวิตจริง เราจะนึกถึงประโยคที่จะพูดขึ้นมาได้โดยธรรมชาติ อารมณ์เหมือน ทาคิคุงบอกรักมิตซึฮะว่า Sukida !!! เราก็จะรู้ว่าเวลาบอกรักใครสักคนมันต้องใช้คำนี้นะ ซึ่งเป็นคำว่าาชอบ ไม่ใช่คำว่ารักอย่าง Aishiteiru ที่ดูจะลึกซึ้งเกินไป

“คุณจะต้องอยู่กับสื่อภาษาญี่ปุ่นทุกวัน”

เรียนภาษาญี่ปุ่น
Sukida !!

การเรียนของผมจะเน้นหนักไปในการอ่านทวนซ้ำ ผมเริ่มเรียนโดยเรียนที่มินนะเล่ม 2 ครับ (แม้ตอนนั้นความรู้ในมินนะเล่ม 1 ก็ยังไม่ครบ) ตอนแรกๆผมจะประสบปัญหาเรื่องการอ่านตัวคานะครับ เพราะผมอ่านไม่คล่องเลยครับ กว่าจะอ่านได้เป็นคำนี่ต้องคิด คันจิไม่ต้องพูดถึง ตัวเลขผมยังจำได้แค่ 1 2 3 เพราะงั้นก็เลยพยายามทำตัวเองให้ชินกับตัวอักษรโดยการอ่านไปเรื่อยๆก่อน แล้วก็พยายามจำคำศัพท์ ซึ่งแน่นอน ผมไม่ใช่คนเก่งครับ ผมอ่านจบไปหนึ่งรอบ ไม่เข้าใจรูปประโยค คำศัพท์ก็ลืมๆ แถมตัวคานะก็ยังไม่คล่อง แล้วจะทำยังไง ? ก็อ่านซ้ำครับ โดยทั่วไปผมอ่านวันละประมาณ 1-3 ชั่วโมงครับ ฟังดูง่ายแต่ทำไม่ง่าย ทริกหลักของผมคือเวลาไปทำอะไรที่เราคิดว่าเสียเวลาอย่างไปนั่งรอเรียน ก็พกไปอ่านครับ เพื่อนนั่งคุย เราก็กางประมวลกฎหมาย ซ้อนด้วยหนังสือไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่น (ผมไม่มีสมาร์ทโฟนในช่วงเวลานั้นนะครับ ไอแพดก็ไม่มี ไม่มีเงินซื้อครับ 55)

การเก็บเล็กผสมน้อยมันไม่ใช่เรื่องตลกเพราะพอรวมกันมันไม่น้อย

อีกทีก็อ่านก่อนนอนครับ เราจะอ่านๆไปได้สักพักแล้วหลับ แต่พอตื่นมาอีกทีถ้าเป็นวันหยุดเราก็อ่านต่อเลยครับ ผมทำแบบนี้กับมินนะทุกเล่ม

ขอบอกว่าเบื่อ แต่ฟืนจากอนิเมะทำให้ผมมีไฟในการเรียนเพื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นค

ในการอ่านมินนะ สำหรับผม ผมไม่ได้ทำแบบฝึกหัด แต่เอาเวลาไปอ่านทวนหลายๆรอบ รู้สึกว่าจะได้ผลกว่า ทำแบบฝึกหัดก็เสียเวลากว่าด้วย

ระยะเวลา ในการเรียนมินนะให้จบครบชุดน่าจะอยู่ที่ 6 ถึง 8 เดือนครับ จบในที่นี้คือแม้จะไม่กลับไปอ่านก็รู้ทุกอย่างที่สอนในมินนะแล้วนะ

กว่าจะถึงจุดนั้นได้ต้องใจเย็นๆครับ

ไม่มีใครรู้ตั้งแต่แรกครับ และจะไม่มีวันรู้ถ้าไม่รู้จัก “การรอคอย”

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ระหว่างเรียนมินนะคือการเรียนพร้อมกับสื่อเพื่อไม่ให้การเรียนรู้มันหยุดหรือขาดช่วงครับ รวมไปถึงการคัด “คันจิ” วันละ 1-5 ตัว คุณจะหาคันจิจากไหนก็ได้ครับ แอปมือถือ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ คุณเสียเวลาไม่เกิน 10 นาทีหรอกในการจำตัวอักษร 1-3 ตัว ทำมันไปอย่าขาด

ทั้งนี้ภายหลังคุณอ่านมินนะจบแล้ว ผมแนะนำให้จับการ์ตูน คุณจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองอ่านอะไร ๆ รู้เรื่องขึ้น แต่คำศัพท์คุณจะยังไม่พอและบางทียังไม่คล่องกับการใช้คำเชื่อมครับ ต้องพยายามทำความเข้าใจจากสถานการณ์ เพื่อที่จะได้จับประเด็นของประโยคเป็น

ต่อมาก็เริ่มอ่านไวยากรณ์ระดับ 2 เล่มสีแดง ตรงจุดนี้คุณจะเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น เพราะรูปไวยากรณ์มันมาเหมือนคำศัพท์ จะมีบางตัวที่ยากๆแบบต้องใช้ である, だ นำหน้าหรือไม่ต้องใช้ มันแยกยากครับสำหรับคนมาใหม่ ตอนแรกผมก็จับไอ้ไวยากรณ์พวกนั้นมาเขียนแยกเลยเพื่อท่องจำ ตอนหลังมาไวยากรณ์ขั้นสูงจริงผมไม่ต้องทำแล้วเพราะมันรู้ได้เอง ตรงเล่มสีแดงนี่จะเป็นความรู้ต่อยอดที่ใช้จริงในชีวิตประจำวันจำพวกข่าว เพลง หรือประโยคทางการขึ้นมาหน่อยครับ คือเป็นสิ่งที่คุณยังต้องรู้อยู่ครับ วิธีการอ่านก็จะเหมือนเดิม เน้นการทวนบ่อยๆ สำหรับแบบฝึกหัดเล่มนี้ง่ายเหมือนกันครับ แต่ให้ทำ เพราะมันเป็นหนังสือกึ่งช่วยเตรียมสอบแล้ว ไม่ใช่มินนะที่เป็นหนังสือปูพื้นฐาน ถ้าคนที่คิดจะสอบก็ทำๆไปครับ

หลังจากก้าวข้ามพื้นฐานมาทั้งสองเล่มแล้วก็จะมาอยู่ที่ 500 รูปประโยค เป็นการทวนพื้นฐานทั้งหมดที่มีของคุณ โดยมีการอธิบายการใช้รูปประโยคที่ละเอียดมากขึ้น พร้อมทั้งรูปประโยคที่ใช้ในการสอบระดับ N1 ซึ่งต้องบอกบว่าใช้ในชีวิตจริงไม่เยอะ แต่ก็ควรจะรู้ไว้ เป็นพื้น เจอจะได้ไม่งง เพราะประโยคที่เพิ่มมาก็มีไม่เยอะด้วย โดยภาพรวมเป็นหนังสือคงสภาพความรู้ ถ้าแกรมม่าทางการน้อยไป ก็เอามาเปิดๆเพื่อให้มีเอาไปใช้ ส่วนแบบฝึกหัดในเล่มนี้ใช้ฝึกฝนได้จริงดีกว่าเล่มสีแดง

พอผมเรียนจบสามเล่มนี้แล้ว ก็คือแสวงหาความรู้เพิ่มจากการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีฟูริงานะ (ตัวอ่านคันจิที่ห้อยอยู่ข้างบน) เพราะตอนนั้นคันจิยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมทั้งพยายามอ่าน/ฟังข่าวหรือบทความยากๆ เพราะถ้าตรงนี้สามารถทำได้อย่างราบลื่น การสอบก็น่าจะโอเค

แค่สามเล่มนี้ก็ทำให้ผ่าน N2 ได้แล้วครับ แต่อย่าลืมว่าคุณต้องมีคันจิอย่างน้อย 800 ตัวขึ้นไป และคำศัพท์ในจำนวนที่พอต่อการอ่านด้วยนะ ระยะเวลาจริง ๆ อาจจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี – 1 ปีครึ่งแล้วแต่ความพยายาม

อย่ากำหนดตัวเองให้มากเกินไป

ไม่ต้องจัดตารางเวลาครับ คุณอ่านได้ก็อ่าน ไม่ว่างก็ทำอย่างอื่น สร้างกฎเกณฑ์มากไปมันจะทำลายตัวคุณเองครับ คือคุณต้องเข้าใจว่าปลายทางมันรอคุณอยู่ และสูตรสำเร็จเอบีซีเล็คสตาร์ทมันไม่มีครับ คุณไม่ต้องกลัวหรอกครับว่าคุณจะไปไม่ถึง ตราบเท่าที่คุณยังไม่ทิ้งมัน สิ่งสำคัญคือความต่อเนื่อง

เรื่อยๆ แต่ทำจริง

ความต่อเนื่องและความใส่ใจเป็นสิ่งที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น คือเราควรจะทำมันให้เป็นกิจวัตร ด้วยความรู้สึกที่ไม่เหนื่อยหน่าย เพื่อให้ได้ความรู้ ทั้งนี้สมาธิที่เราอยู่กับมันจะเป็นเรื่องที่ตายตัว แต่ถ้าคุณจะอดทนกับสิ่งที่ไม่ได้อยากทำเพื่อไปถึงเป้าหมาย ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถึงจุดนึงแล้วคุณจะทนกับมันไปได้ตลอดรึเปล่า เป็นสิ่งที่คุณควรจะตอบให้ได้ก่อนที่จะต้องเสียเวลาของตัวเองไปกับสิ่งที่เรียกว่า “ภาษาญี่ปุ่น”

ส่วนเสริมความรู้ในการ เรียนภาษาญี่ปุ่น

สำหรับผมเองโดยหลักแล้วความรู้คำศัพท์ก็มาจากการ์ตูนและอนิเมชั่นตามที่กล่าวๆไปแล้ว อาจจะมีมาจากเกมภาษา (Visual Novel) บ้าง ซึ่งตรงนั้นขอบอกว่ามันกินเวลา แต่เราจะได้ทั้งสนุกและความรู้ ถ้าว่างก็คิดว่าเล่นผ่อนคลาย ตอนเล่นถ้าจดคำศัพท์ก็จะได้เยอะ แต่ถ้าเปิดพจนานุกรมแล้วผ่าน สุดท้ายก็ลืมครับ ผมถ่ายตัวอย่างมาให้ดูครับว่าผมจดคำศัพท์ยังไง อันนี้น่าจะช่วงก่อนที่ผมจะสอบ N2 ผ่าน ขุดมาจากลังเก็บของ ถึงจะเละ แต่ก็ได้ความรู้ แต่กว่าจะเล่นเกมจบทีก็นานพอตัวครับ (มีคำศัพท์ที่จดผิดด้วยนะ อย่าว่ากันเลย ตอนนั้นเพิ่งเริ่มเรียนจริงจัง)

เรียนภาษาญี่ปุ่น
ดูแล้วก็คลาสสิคดี

สำหรับบางคนอาจจะทำบัตรคำศัพท์แบบภาษาอังกฤษ หรืออะไรแบบนั้น ผมก็เคยลองทำครับ แต่ไม่ใช่สไตล์ สุดท้ายโยนทิ้งครับ

เทคนิคในการเรียนภาษาญี่ปุ่นไปพร้อมกับการอ่านการ์ตูน

ในเวลาอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นล้วน ๆ ตอนที่ความรู้ศัพท์ไม่ค่อยจะมี ผมจะอ่านก่อนหนึ่งรอบ โดยไม่สนว่ารู้เรื่องหมดหรือไม่ แล้วเปิดพจนานุกรมในคอม ก็อปศัพท์วางในเวิร์ด สมมติได้สัก 20 คำต่อหนึ่งตอน ก็อ่านสัก 5 ตอนให้ได้ 100 คำ แล้วก็เอามาท่อง พอท่องจบก็ไปอ่านอีกรอบ คราวนี้ก็เป็นการทวนศัพท์ที่จำมาพร้อมกับรับอรรถรสในการอ่านการ์ตูนรอบที่ 2 ครับ

การทำแบบนี้ทำให้เราได้คำศัพท์เพิ่มขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัวครับ

ทดสอบตัวเอง

การทดสอบตัวเองจะมีอยู่หลายอย่าง แค่หยิบหนังสือนิยายมาอ่านก็ หรือแม้แต่ฟังข่าว อ่านข่าวก็เป็นการทดสอบตัวเองเช่นกัน ความจริงใบสอบวัดระดับถ้าไม่ได้ใช้มันก็ไม่ได้แสดงถึงประโยชน์อะไร เลยไม่อยากจะให้โฟกัสมาก เราจะใช้มันเป็นเป้าหมายแรก แต่ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย

สำหรับผมในตอนแรก การสอบวัดระดับ N2 ผมไม่ได้เตรียมตัวสอบก่อนไปอ่านเท่าไหร่ เพราะไม่คิดว่าจะจริงจังกับภาษาญี่ปุ่นเลย ณ ตอนนั้น พอสอบตกรอบแรกก็เจ็บใจนิดนึง แต่พอสอบรอบที่สองผ่านก็ดีใจ แต่พอมาดูความเป็นจริง N2 ตอนที่ผ่าน คันจิผมยังมีแค่ 1000 กว่าตัว อนิเมะก็ยังฟังได้บ้างไม่ได้บ้าง นิยายไม่ต้องพูดถึงอ่านแบบหน้าละครึ่งชั่วโมง

แต่ตอนที่สอบผ่านระดับ N2 ความรู้ผมก็แค่หนังสือหลัก 3 เล่มเท่านั้น  ไม่มีหนังสือเตรียมสอบเยอะแยะเหมือนตอน N1 อาจจะเหมือนพูดซ้ำแต่ก็สุดท้ายพวกนี่มันเหมือนสิ่งที่เอาเป็นเครื่องมือในการสมัครเรียนหรือทำงาน แต่ไม่ใช่เครื่องมือแสดงทักษะทางภาษาที่แท้จริงของคนสอบครับ ถึงจะผ่านแล้วถ้าไม่ฝึกฝนก็กลายเป็นความว่างเปล่าครับ

วนกลับที่ประเด็น สิ่งที่ต้องเน้นใน N2 คือการ “จับประเด็น” ในเชิงวิเคราะห์ ก็คงเหมือนๆกันทุกระดับ เพียงแต่ N2 กับ N1 คงจะใกล้เคียงกับการใช้งานจริงที่สุดครับ เพราะฉะนั้นถ้าคุณฟังเร็วไม่ได้ คำศัพท์ไม่ได้ ก็มีโอกาสแพ้สูงครับ

ในส่วน N1 ผมเริ่มเตรียมตัวจริงจัง โดยซื้อหนังสือแปลไทยมาอ่าน ก็อ่านข่าวเป็นปรกติ ฟังข่าวเป็นปรกติ แบบไม่ซีเรียสเท่าไหร่ ก็สอบรอบแรกไม่ผ่าน เพราะผลการสอบการฟังกับการอ่านย้ำแย่ครับ พาร์ทแรกคือศัพท์ ไวยากรณ์ คันจิ ยังโอเคอยู่ ผมเลยเริ่มมาจริงจัง เพราะต้องการให้มันจบ เลยซื้อหนังสือฝึกการฟังและการอ่านมานั่งอ่านแบบ ถ้าไม่ผ่านก็คงไม่สอบอีกแล้ว โดยหนังสือที่ใช้เป็นหนังสือของญี่ปุ่น Kanzen Master ระดับ N1 กับหนังสือแปลไทย ทั้งนี้ผมอ่านราวๆวันละ 1-3 ชั่วโมง ทุกวันแบบจริงจัง และเตรียมสอบจริงๆครับ ผ่านมาได้ก็ดีใจ แม้จะได้คะแนนไม่ดีในตอนนั้น แต่ความรู้สึกคือแบบหลุดพ้นแล้ว จากนี้จะได้เรียนภาษาญี่ปุ่นแบบที่อยากเรียนจริง ๆ สักที

จุดอ่อนของการเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง

โดยหลักจุดอ่อนของคนที่เรียนด้วยตัวเองคือ “การเขียน (พิมพ์) และการพูด” เพราะโดยหลักเราจะไม่ได้ใช้ในลักษณะประมวลผลข้อมูลเพื่อส่งออก (Output) แต่เราใช้ในการอ่านและการฟัง เป็นการประมวลผลข้อมูลจากสิ่งที่ผ่านเข้ามา (Input) เพราะฉะนั้นเวลาจะตอบคำถามอะไรสักอย่างมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการเข้าใจอะไรสักอย่าง จุดอ่อนตรงนี้จะถูกปรับปรุงเมื่อเราไปอยู่ในสภาพแวดล้อมทางภาษาที่ดีพอ คือไปเรียนต่อ ทำงาน เลย ซึ่งก็อาจจะต้องมีการปรับตัวก่อน แต่การปรับตัวของคนที่เรียนมาเองอย่างมาก ยังไงก็จะไปได้เร็วอย่างแน่นอน แถมถ้าสอบผ่านแล้ว ก็ไม่ต้องสนใจเรื่องการอ่านหนังสือเพื่อทำข้อสอบวัดระดับ เราจะได้มุ่งในส่วนการใช้งานจริงหรือการสอบเรียนต่อระดับวิจัยเลยนั่นเอง

ข้อดีของการ เรียนภาษาญี่ปุ่น ด้วยตัวเอง

ก็คงรู้ ๆ กันอยู่แล้วการเรียนเองคือการจัดสรรทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่มีความเครียด ไม่เสียเงิน ไม่เสียเวลาเดินทาง และไปได้เร็วหากจะมุ่งในด้านการอ่านและการฟัง เพราะมันเป็นทักษะที่เรารับโดยตรงจากหนังสือได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องมีคนมาเป็นตัวกลางหากจับจุดในการเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาตัวเองได้

ทุกครั้งที่เบื่อหน่ายกับการ เรียนภาษาญี่ปุ่น

คือทุกครั้งไม่ว่าจะทำอะไร มันจะต้องมีช่วงเวลาที่เบื่อหน่ายกับชีวิต และไม่อยากจะทำมันทุกๆสิ่ง ยิ่งการเรียนเป็นสิ่งที่น่าเบื่อมักจะถูกโยนทิ้งไปเป็นอันดับแรกๆ

สำหรับผมเองพอเริ่มรู้สึกอะไรแบบนั้นก็จะเปิดเพลงเก่าๆที่เคยฟัง เพราะมันทำให้ตัวผมย้อนมองวันเก่าๆว่า เออเรามาถึงจุดนี้แล้ว เพราะวันนั้นเราทำแบบนั้น ตอนนั้นเราสนุกกับมัน สนุกกับบางสิ่งบางอย่าง เพ้อเจ้อ เพ้อฝัน ตอนนี้เราก็ทำได้ อีกไม่นานเราก็จะได้สนุกยิ่งขึ้นไปอีก อารมณ์เหมือนปรับจิตใจของตัวเองให้มันมีไฟเสมอ จะได้มีกำลังใจในการเรียนหรือทำอะไรกับชีวิต

สอบ N1 ผ่านมามันทำอะไรได้บ้าง

ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้ N1 เรียนมาประมาณ 2 ปีครึ่งที่เรียนมาก็อ่านนิยายได้ อนิเมะก็ดูรู้เรื่องกว่า 70% คือรู้ประเด็นหลักของเนื้อเรื่องที่ดำเนินไป แต่ถ้าเจอศัพท์เฉพาะหรือศัพท์ต่างประเทศฉบับญี่ปุ่น พูดเร็ว ก็งงตาแตกเหมือนกันครับ แต่อรรถรสจากการรับชมก็ดีในระดับหนึ่งโดยไม่ต้องมีบทบรรยายครับ ทุกวันมันก็ต้องดีขึ้นกว่าเดิมอยู่แล้วครับ นิยายก็อ่านไวขึ้น เมะก็ไม่ติดขัดมากขึ้น ก็แค่นั้น แต่พอไปในจุดที่ใช้จริงในสังคมระดับธุรกิจกับการศึกษาวิจัย เราก็ต้องไปศึกษาเพิ่มอีก

โลกแห่งความจริง

อย่าคิดว่าเรียนมาด้วยตัวเองแล้วได้ระดับมากกว่าใครจะเก่งกว่าใคร เวลาเราจะมองอะไรเรามองที่ปลายทาง ถ้าคุณเรียนมาเองหมดแล้วได้เท่ากับคนที่เขาเรียนในต่างประเทศ มันเป็นสิ่งดี มันแสดงถึงความพยายาม แต่คุณไม่ได้ดีไปกว่าใครเขา ถ้าคุณแย่กว่าก็ไม่ใช่ข้ออ้างว่าเพราะคุณเรียนมาด้วยตัวเอง มันดูที่ว่าสุดท้ายแล้วคุณอยู่ที่จุดไหน กรุณาระลึกไว้เสมอว่าประสบการณ์ของการศึกษาที่แตกต่างกันไม่ได้ทำให้เราอยู่ในจุดที่แตกต่างกว่าใคร อย่าพยายามเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เราควรจะ “เปรียบเทียบตัวเองกับตัวเอง” เพื่อที่จะได้ไม่แพ้ตัวเองในอดีตครับ

สำหรับการเขียนครั้งนี้ แม้เนื้อหาจะไม่เยอะมาก แต่คิดว่าคงสรุปใจความโดยทั่วไปให้กับผู้สนใจได้นะครับ

คือผมก็ไม่ได้ทำอะไรมากเป็นพิเศษ แต่ผมแค่ทำตามที่คิดว่าตัวเองอยากจะทำและในตอนที่จะสอบ N1 ก็ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ให้มันมากกว่าปรกติหน่อย ก็มีเบื่อบ้าง เซ็งบ้าง แต่มันเล็กน้อยกับผลที่ได้รับ

N1 ไม่ได้บอกว่าเราเก่ง แม้จะทำคะแนนได้สูง ก็จะออกแนวๆเดียวกับ TOEIC คือมันใช้ประโยชน์ได้ อย่างเงินเดือนบริษัทญี่ปุ่นหรือการศึกษาระดับวิจัย อีกทั้งยังทำให้เราปล่อยวางกับมันได้ เพราะเราสอบผ่านแล้ว

อย่างไรก็ตามผมไม่ได้กล่าวถึงการเรียนในสถาบันหรือการไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะบทความนี้ไม่ได้สร้างมาเพื่อการนั้น ถ้าคุณมี “เวลาและเงิน” การไปเรียนกับสถาบันที่ประเทศญี่ปุ่นมันจะตรงจุดและไปได้ไว ต้องยอมรับ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ต้องทำงาน มีภาระ หรือยังอยู่ในวัยเรียน การเรียนด้วยตัวเองแบบนี้เพื่อเตรียมตัว มันสร้างประโยชน์ให้กับคุณได้อีกมาก พอถึงเวลาที่จะต้องไป ณ จุดที่ตัวเองอยากไปในประเทศญี่ปุ่น เพื่อเติมเต็มส่วนที่เราขาด

แน่นอนว่าถ้าเราไม่ไปญี่ปุ่นและเก่งได้เท่าคนญี่ปุ่น เราคงไม่ต้องไป แต่มันทำไม่ได้ครับ

สุดท้ายแล้วการมีพื้นฐานที่ดีหรือดีมาก มันประหยัดเวลาและเงิน รวมทั้งความสบายใจของเราที่มีมากกว่าคนที่ไม่มีอะไรแล้วไปเรียนเลยครับ แต่ที่มากที่สุดคือคุณจะได้สัมผัสกับประเทศญี่ปุ่นในมุมมองที่คนไม่มีพื้นฐานไม่ไ่ด้เห็น ทั้งในด้านที่ดีและด้านที่แย่ เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีใครจะสัมผัสแทนคุณได้ ความฟินนี้ต้องไปลองด้วยตัวเอง

ก่อนจากไปขอบอกก่อนว่าตัวผมไม่ได้เรียน Major หรือ Minor ภาษา แต่ผมเรียนกฎหมาย และการเรียนกฎหมายนั้นใช้พื้นที่สมองเปลืองมาก กินพื้นที่ความรู้ภาษาผมทุกๆครั้งในขณะที่เรียน แต่ก็แบ่งเวลาตามที่คิดว่าสมควร มั่นได้ใจว่าผมไม่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นบ้าเป็นหลังถึงสอบผ่าน วันๆก็นั่งเล่นเกมไปเรื่อย ดูเมะ เพ้อเจ้อ แต่มันก็มาถึงจุดนี้ได้ อาจจะเป็นเพราะผมไม่เคยทิ้งมันแม้แต่วันเดียว ก็แค่ทำในสิ่งที่อยากทำ

การศึกษาภาษาญี่ปุ่นทำให้ผมมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น สามารถติดตามบทความในส่วนของการเตรียมตัวสอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ที่ลิ้งนี้

ตัวเราจะเร็วจะช้า จะเทพหรือไม่ และไปไกลได้ขนาดไหน เรากำหนด ตราบเท่าที่เรายังเดินไปต่อ จุดหมายก็มาถึงแน่นอน แต่เมื่อไหร่ที่เราหยุดเดินทุกอย่างมันก็จบลงที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นตัดสินใจให้ดี เดินมาแล้วก็ต้องเดินให้ถึงเส้นชัยอนาคตคนเรามีอะไรอีกหลายอย่าง อย่าให้สิ่งเล็กน้อยมาขวาง สุดท้ายคุณจะรู้สึกดีเมื่อผ่านพ้นมันไป ขอให้โชคดี  

เด็กอ่อนภาษาและขี้เกียจแบบผมก็ทำได้ แล้วทำไมคุณจะทำไม่ได้ !!! มาเรียนภาษาญี่ปุ่นกัน !!! แล้วคุณจะลืมแฟนซับ สำนักพิมพ์ ฯลฯ ไปโดยปริยาย พร้อมกับความฟินในการเสพสื่อโดยไม่ต้องพึ่งใคร !!

Studyカテゴリの最新記事