อะไรคือยุคคนเปื่อยของญี่ปุ่น
ยุคคนเปื่อยของญี่ปุ่นแปลมาจากภาษาญี่ปุ่นที่ว่า ยูโตริเซะได「ゆとり世代」หรือยุคยูโตริ โดยคำว่ายูโตริมีความหมายในลักษณะ “เอ้อระเหย” หรือ “เรื่อยเปื่อย”
การศึกษาแบบ “ยูโตริ” เกิดขึ้นมาเนื่องมาจากในสมัยก่อนประเทศญี่ปุ่นได้ทำอัดเนื้อหาในชั้นการศึกษาภาคบังคับไว้มากมายเกินไป จนภายหลังปี 1980 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้มีการปรับหลักสูตรโดยลดความเข้มข้นเนื้อหาลง ซึ่งรวมถึงลดเวลาในการเรียนลงด้วย แต่ก็ปรับลดมากเกินไป จนเป็นบ่อเกิดของ ยุคยูโตริ หรือ ยุคคนเปื่อย นั่นเอง
ยุคคนเปื่อยของญี่ปุ่นเริ่มต้นเมื่อไหร่
ว่ากันว่าหลักสูตรที่สร้างคนเปื่อยของญี่ปุ่นนั้นเริ่มต้นที่ช่วงปี 1992 ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่คนญี่ปุ่นต้องเรียนวันเสาร์ด้วย (เดิมหยุดแค่วันอาทิตย์) ก็กลายเป็นเรียนแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ (หยุดเสาร์และอาทิตย์) และว่ากันว่าหลักสูตรมีผลใช้บังคับจริงอย่างเต็มที่ในช่วงปี 2002 จนถึงปี 2010 เพราะในช่วงนี้ว่ากันว่าเนื้อหาของเด็กประถมและมัธยมต้นน้อยลงกว่าเดิมลงไป 30% จึงคาดการณ์ได้ว่าคนที่เกิดราวช่วงปี 1987 ถึง 2000 จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับอิทธิพลจากระบบการศึกษาที่ง่ายและสบาย หรือก็คือคนที่มีอายุราว ๆ 15 ถึง 32 ในปี 2020 ที่บทความนี้ถูกเขียนนั่นเอง
ลักษณะของคนญี่ปุ่นที่เกิดในยุคคนเปื่อย
ตามความรู้สึกของคนญี่ปุ่น ยุคคนเปื่อยเป็นยุคที่ความสามารถของผู้คนทางการศึกษานั้นต่ำลง และผู้คนมีความพยายามน้อยลงเพราะได้รับอิทธิพลมาจากหลักสูตรการศึกษาที่สบายเกินไป โดยมีลักษณะพิเศษดังต่อไปนี้
- ให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่างาน
- ไม่ทำอะไรจนกว่าจะได้รับคำสั่ง
- ล้มง่าย จิตใจอ่อนแอ ไม่มีความอดทนต่อความเครียด
- ไม่ค่อยมีความยึดติด ความโลภต่ำ เน้นใช้ชีวิต
- ไม่ค่อยมีความสนใจเรื่องการแต่งงานและความรัก
นอกจากนี้แล้วก็จะมีเรื่องของความสนใจในสิ่งรอบข้าง ความอยากรู้อยากพัฒนาต่ำ ซึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นที่อยู่ในยุคสร้างชาติมองว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วคนในยุคคนเปื่อยเป็นยุคที่ผ่อนคลายความตึงเครียดของลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นก็ว่าได้
สรุปความเปื่อย
ในสังคมญี่ปุ่น โดยเฉพาะพวกลุง ๆ ที่มาจากยุคสร้างชาติ ทำงานหนักเป็นหุ่นยนต์มักจะมีวลีติดปากที่ว่า “พวกยูโตรินี่มัน …” ไม่ต่างไปจากวลีที่ว่า “เด็กสมัยนี่มัน …”
โดยความเห็นส่วนตัวแล้วคนญี่ปุ่นที่มาจากยุคคนเปื่อยก็อาจจะมีลักษณะนิสัยที่ไม่ต่างไปจากคนไทย เจ้าของบล็อกเองก็ทำงานบริษัทญี่ปุ่นมา ก็พบเจอกับคนในยุคยูโตริ จากความรู้สึกส่วนตัว ความตึงเครียดในการทำงานของพวกยูโตริจะน้อยกว่าคนญี่ปุ่นปกติ เน้นความสบายเป็นหลัก ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ยูโตริอาจจะเข้ากับคนไทยได้ง่ายกว่าคนญี่ปุ่นปกตินั่นเอง